20120924

5 เกณฑ์วัด “ ต้นแบบคนดี น่านับถือ ” ในสังคม

.

ในปัจจุบันหากมีการสัมมนาหรือประชุมเพื่อหาแนวทางพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอ คือ ความต้องการ “ ต้นแบบ ” หรือ “ ตัวอย่างที่ดี ” โดยเฉพาะจากผู้นำในทุกภาคส่วนของสังคมตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ดารานักร้อง ศิลปิน ผู้นำทางศาสนา หรือผู้นำทางการเมือง เป็นต้น เพราะบุคคลเหล่านี้จะมีส่วนอย่างมากต่อการชี้นำ หรือกำหนดแนวทางให้เด็กๆและเยาวชนของชาติเลียนแบบพฤติกรรม ซึ่งทุกวันนี้คุณลักษณะหนึ่งที่เรียกร้องกันมากคือ “ ความซื่อสัตย์ สุจริต ” ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ควรเป็นต้นแบบที่ดีเท่านั้น ในหนังสือ “ ธรรมนูญชีวิต ” ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึง หลักเกณฑ์ วัดคนที่ประสบความสำเร็จในการครองเรือน หรือคนที่ชาวบ้านสามารถให้เคารพนับถือว่าเป็นแบบฉบับและตัวอย่างที่ดีในการ ดำรงชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำมาขยายต่อให้เห็นว่า คนแบบใดที่ควรไหว้หรือนับถือได้อย่างเต็มหัวใจ
       เกณฑ์แรก ท่านว่าให้วัดจาก ความสุขสี่ประการ ที่เรียกว่า “ กามโภคีสุข ” หรือสุขของคฤหัสถ์ (คือผู้ครองเรือน หรือชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้บวช) กล่าวคือ คนที่จะเป็นที่นับถือของคนอื่นได้ อย่างน้อยต้องเป็นคนที่มีความสุขในแบบที่คนทั่วๆไปควรจะพยายามให้เกิดขึ้น กับตน นั่นคือ
       ๑.อัตถิสุข คือ สุขจากความมีทรัพย์ หมายถึง มีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนมีโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง ความขยันหมั่นเพียรของตน และ โดยทางชอบธรรม
       ๒.โภคสุข คือ สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ หมายถึง มีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้ทรัพย์ที่หาได้โดยชอบนั้น เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และใช้บำเพ็ญประโยชน์ส่วนหนึ่ง
       ๓.อนณสุข (อะนะนะสุก) คือ สุขจากการไม่เป็นหนี้ หมายถึง มีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนเป็นไท ไม่เป็นหนี้ติดค้างใคร
       ๔.อนวัชชสุข (อะนะวัดชะสุก) หมายถึง สุขจากความประพฤติไม่มีโทษ คือ มีความภูมิใจ อิ่มเอิบใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้ทั้งกาย วาจา และใจ
       ทั้งสี่ประการนี้ ท่านว่าข้อสุดท้ายเป็นความสุขที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งแน่นอนใครก็ตามที่มีความประพฤติไม่มีโทษ มีความสุจริต อย่าว่าแต่เจ้าตัวเลยที่มีความสุข คนรอบข้างก็มีความสุขไปด้วย เพราะไม่ถูกเบียดเบียน และใครๆก็สามารถกราบไหว้เคารพผู้นั้นได้อย่างจริงใจ
       เกณฑ์ที่สอง ท่านว่า ชาวบ้านหรือผู้ครองเรือนทั่วๆไป มีหลายประเภท ตั้งแต่ร้ายไปจนดี และที่ดีก็มีหลายระดับ เช่น บางคนก็หาทรัพย์มาด้วยความชอบธรรม บางคนก็หาทรัพย์มาแบบชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง และใช้ทรัพย์นั้นๆในแบบต่างๆ กล่าวคือ บางคนหาทรัพย์ได้ ก็ไม่รู้จักใช้ให้ตัวเองเป็นสุข ไม่รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ใช้ทรัพย์ในการทำความดี ในขณะที่บางคนก็รู้จักใช้ทรัพย์ให้ตัวเองเป็นสุข แต่ไม่แบ่งปันคนอื่น และไม่ใช้ทำความดี หรือบางคนก็ใช้ทรัพย์ในทางหมกมุ่น มัวเมา หรือกินใช้ทรัพย์โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ เรียกว่า ไม่มีปัญญาทำตัวให้เป็นนายเหนือทรัพย์ได้ ดังนั้น ท่านจึงว่า คฤหัสถ์ที่เป็นแบบฉบับ ในเรื่องนี้ จึงควรมีลักษณะ แสวงหาทรัพย์โดยทางชอบธรรม ได้มาแล้ว รู้จักเลี้ยงตนให้เป็นสุข รู้จักเผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์ทำความดี ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติอย่างรู้เท่าทัน เห็นคุณและโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญา ทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์ คนเช่นนี้พระพุทธองค์สรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศ ประเสริฐสูงสุด
       อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการวัดคนดีและเป็นแบบฉบับด้วยเกณฑ์นี้ บางทีก็ดูไม่ง่ายนัก เพราะพฤติกรรมบางอย่างก็เหลื่อมล้ำ จนยากจะตัดสินใจได้ว่า “ ดี ” หรือ “ ไม่ดี ” เช่น ถ้าใครก็ตามที่หาทรัพย์มาด้วยการ คดโกง เราก็ต้องว่าเขาเป็น คนไม่ดี แต่ถ้าคนๆเดียวกันนี้ นำเงินของเขาบางส่วนไป ทำบุญหรือเลี้ยงเด็กกำพร้า เด็กยากจน เราก็ต้องบอกว่า เขา ทำความดี ใช่หรือไม่ ในขณะที่อีกคนทำมาหากินด้วยลำแข้ง ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ก็ไม่ช่วยเหลือใคร และก็ไม่เคยทำบุญเลย คนเช่นนี้จะเรียกเขาว่า คนดี หรือเปล่า? หรือคนหนึ่งหากินจนร่ำรวยในทางสุจริต เมื่ออยากผ่อนคลายจึงไปซื้อบริการเด็กเสิรฟที่อยากได้เงินพิเศษ หรือเลี้ยงเด็กนักศึกษาที่ต้องการทุนไว้ศึกษาต่อ คนเช่นนี้ เราจะกล่าวว่าเขาใช้ทรัพย์ทำความดีได้หรือไม่ ในเมื่อเขาก็หาเงินมาอย่างสุจริต และใช้เงินช่วยเหลือเด็กเสิรฟหรือนักศึกษาที่ต่างก็ต้องการเงินพิเศษ เรียกว่าสมประโยชน์ทุกฝ่าย หรือในบางบริษัทที่มีพนักงานที่เก่ง สามารถหากำไรเข้าบริษัทได้เป็นร้อยๆล้าน แต่ขณะเดียวกันเขาก็โกงบริษัทไปบางส่วน ในขณะที่อีกคนใครๆก็ว่าเขาดี และซื่อสัตย์ แต่หาเงินเข้าบริษัทได้น้อยกว่า บริษัทจะเลือกใคร ? ลักษณะคล้ายๆกันนี้ เป็นสิ่งที่เราพบเห็นกันมากในสังคมปัจจุบัน ที่เส้นแบ่งระหว่างความดี/ไม่ดี ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ และคงยากที่จะให้คำตอบตายตัว
       เกณฑ์ที่สาม ท่านว่าคนที่จะเป็น “ แบบอย่างที่ดี ” ได้ต้องเป็นผู้มีหลักธรรมในการดำเนินชีวิตที่เรียกว่า “ ฆราวาสธรรม ๔ ” อันได้แก่ ๑.สัจจะ ความจริง คือ เป็นคนดำรงมั่นในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง จะทำอะไรก็ให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้ ๒.ทมะ ฝึกตน คือ บังคับควบคุมตัวเองได้ รู้จักปรับตัวและแก้ไข ปรับปรุงตนให้ก้าวหน้าดีงามยิ่งขึ้นอยู่เสมอ ๓.ขันติ อดทน คือ มุ่งทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็งอดทน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมาย ไม่ท้อถอย ๔.จาคะ เสียสละ คือ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ชอบช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญประโยชน์ สละโลภ ละทิฐิมานะได้ ร่วมงานกับคนอื่นได้ ไม่ใจแคบหรือเห็นแก่ตัว หรือเอาแต่ใจตัว
       เกณฑ์ที่สี่ ท่านว่า ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ มีความสัมพันธ์อันดีงามอบอุ่นเป็นสุขภายในครอบครัว ตลอดถึงญาติมิตร ผู้ร่วมงานและคนที่พึ่งพาอาศัยอยู่ในปกครอง โดยทำหน้าที่ไม่เพียงแต่นำประโยชน์ทางวัตถุมาให้เท่านั้น แต่ต้องนำประโยชน์ทางจิตใจมาให้ด้วย โดยประพฤติเป็นตัวอย่างและชักจูงให้ผู้เกี่ยวข้องเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมที่ เรียกว่า “ อารยวัฒิทั้ง ๕ ” (อาระยะวัดทิ) คือ ๑.งอกงามด้วยศรัทธา คือ ให้มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยในการทำความดี ๒.งอกงามด้วยศีล คือ ให้มีความประพฤติดีงาม สุจริต รู้จักเลี้ยงชีวิต มีวินัย และกิริยามารยาทอันงดงาม ๓.งอกงามด้วยสุตะ คือ ให้มีความรู้จากการเล่าเรียน สดับฟัง โดยแนะนำหรือขวนขวายให้ศึกษาหาความรู้ที่จะปรับปรุงชีวิตจิตใจ ๔.งอกงามด้วยจาคะ คือ ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อกัน        ๕.งอกงามด้วยปัญญา คือให้มีความรู้คิด เข้าใจเหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว รู้คุณรู้โทษ มองสิ่งทั้งหลายเป็นจริง รู้จักใช้ปัญญาหาเหตุปัจจัย แก้ปัญหา และจัดทำการดำเนินการต่างๆให้ได้ผลดี
       และ เกณฑ์ที่ห้าสุดท้าย ก็คือ การครองตนเป็นพลเมืองดี ด้วยการนำชีวิตและครอบครัวตนไปสู่ความเจริญ สงบสุข และเป็นพลเมืองที่สร้างสรรค์ในสังคม ด้วยการประพฤติต่างๆ อันได้แก่ ไม่คบชู้สู่หา มัวหมกมุ่นในเรื่องเพศ / ไม่ใจแคบเสพสิ่งเลิศรสผู้เดียว /ไม่พร่าเวลาถกถ้อยที่เลื่อนลอยไร้สาระ / ประพฤติดี มีวินัย ตั้งอยู่ในศีล ๕ /ปฏิบัติกิจหน้าที่สม่ำเสมอโดยสมบูรณ์ / ไม่ประมาท กระตือรือร้นทุกเวลา / มีวิจารณญาณ ทำการโดยใช้ปัญญา / สุภาพ ไม่ดื้อกระด้าง ยินดีรับฟังผู้อื่น/ รักความประณีตสะอาดเรียบร้อย/พูดจาน่าฟัง ทั้งใจกายก็อ่อนโยน ไม่หยาบคาย/ มีน้ำใจเอื้อสงเคราะห์มิตรสหาย/เผื่อแผ่แบ่งปันคนทั่วๆไป / รู้จักจัดการงานให้เรียบร้อยและได้ผลดี/บำรุงพระสงฆ์ทรงความรู้ ผู้ทรงศีลทรงธรรม/ ใคร่ธรรม รักความสุจริต /อ่านมาก ฟังมาก รู้วิชาของตนเชี่ยวชาญ / และชอบสอบถามค้นคว้า ใฝ่หาความรู้ยิ่งๆขึ้นไป
       ทั้งหมดคือหลักเกณฑ์ที่ท่านบอกว่า ใครก็ตามที่ประพฤติปฏิบัติได้ ก็เรียกว่าเป็น “ คนครองเรือนที่เลิศล้ำ ” หรือกล่าวง่ายๆว่า คนๆนั้นมีลักษณะเป็น “ ต้นแบบคนดี ที่น่านับถือในสังคม ” ซึ่งชาวบ้านทั่วไปสามารถให้เคารพนับถือได้อย่างจริงใจนั่นเอง ซึ่งหลายคนอ่านแล้ว อาจคิดว่าจะหาคนเช่นนี้ได้ที่ไหน แต่จริงๆแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณธรรมพื้นฐานในการดำรงชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่กระแสทุนนิยม อาจจะทำให้เราหลงไปชื่นชมยกย่อง “ คนที่มีฐานะหรือสถานภาพสูงในสังคม ” ที่ฉาบด้วยตำแหน่ง เครื่องประดับ รถ หรือบ้าน ฯลฯ อันเป็นเปลือกมานาน จนลืมเลือนที่จะยกย่อง “ คนดี ทำดี ” ที่ธรรมดาให้ปรากฎ หรือเหนือกว่า ปัจจุบัน เราจึงมี “ ต้นแบบ ” ที่ “ สวยแต่รูป จูบไม่หอม ” มากมายในสังคม
............................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

เขียนเมื่อ ธันวาคม ๔๘

ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.culture.go.th/


0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu