20120924

คุณธรรม 7 ประการ ไปยึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน


ปัจจุบัน สังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้ง หลากหลายประการเช่นการแก่งแย่งความเป็นใหญ่ การฉ้อโกง การเห็นแก่ตัว ขาดคุณธรรม จริยธรรม มีการฆ่ากัน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ความมีน้ำใจในสังคมก็น้อยลงทุกที เป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ถึงวิกฤตชาติที่เกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงได้รวบรวมพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานในโอกาสต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการสำรวจจิตใจ และฟื้นฟูสภาพจิตใจของประชาชนชาวไทย ให้มีจิตใจที่อ่อนโยน เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจกันจรรโลงอนุรักษ์ ให้ประเทศไทยของเราอยู่อย่างมีเอกราช และมีวัฒนธรรมที่ดีงาม
              สำหรับพระราชดำรัสเกี่ยวกับคุณธรรม ๗ ประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ หยิบยกมาได้แก่ พากเพียรอดทน เสริมสร้างคนดี รู้รักสามัคคี มีน้ำใจ ใฝ่ประหยัด ซื่อสัตย์ สุจริต และเศรษฐกิจพอเพียง
              “… ความพากเพียร ที่ถูกต้องเป็นธรรมและพึงประสงค์นั้น คือ ความเพียรที่จะกำจัดความเสื่อม ให้หมดไปและระวังป้องกันมิให้เกิดขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง กับความเพียรที่จะสร้างสรรค์ความดี ความเจริญให้บังเกิดขึ้นและระวังรักษามิให้เสื่อมสิ้นไปอย่างหนึ่ง ความเพียรทั้งสองประการนี้ เป็น อุปการะอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน ถ้าทุกคนในชาติจะได้ตั้งตนตั้งใจอยู่ใน ความเพียรดังกล่าว ประโยชน์และความสุขก็จะบังเกิดขึ้นพร้อมทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม ”
(พระราชทานในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ณ สนามหลวง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๙)
              “ ...ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้... ”
(พระราชทานในงานชุมชนลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒)
              “ ...คนไทยเราที่รักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้ ก็โดยอาศัยการที่ รู้รักสามัคคีและรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเสริมกัน... ” (รู้คือทราบ ทราบความหมายของสามัคคี รักคือนิยม นิยมความสามัคคี)
(พระราชทานในวโรกาสเสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔)
              “ ...สามัคคีนั้นในความเข้าใจโดยทั่วไป มักจะหมายถึงความยึดเหนี่ยวไว้ให้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ถ้าเป็นเพียงเท่านั้น ก็ดูจะไม่มีคุณค่า เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ความสามัคคี ควรจะมี ความหมายลึกซึ้งกว่านั้นอีกด้วย เช่นควรจะหมายถึงความพร้อมเพรียงของทุกฝ่ายทุกคนที่มีความสำนึกแน่ชัดในความ รับผิดชอบ ที่จะใช้ความรู้ความคิด ความสามารถ ตลอดจน คุณสมบัติทุก ๆ ประการของตน ให้ประกอบพร้อมเข้าด้วยกันและให้เกื้อกูลส่งเสริมกัน เพื่อ สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นสาระแก่นสาร และที่เป็นประโยชน์เป็นความเจริญต่อส่วนรวมและเพื่อนมนุษย์... ”
(พระราชทานเพื่อเชิญให้อ่าน ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๐)
              “ ... คุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั้น ประการหนึ่งได้แก่ การให้ คือ ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน ให้อภัยกันไม่ถือโทษกัน ให้คำแนะนำตักเตือนที่ดีต่อกัน ประการที่สอง ได้แก่ การมีวาจาดี คือ พูดแต่คำสัจคำจริงต่อกัน พูดให้กำลังใจกัน พูดแนะนำประโยชน์ให้แก่กัน คือประพฤติปฏิบัติตนให้เกิดประโยชน์เกื้อกูล ทั้งแก่กันและกันแก่หมู่คณะโดยส่วนรวม ประการที่สี่ ได้แก่ การวางตน ได้สม่ำเสมออย่างเหมาะสม คือ ไม่ทำตัวให้ดีเด่นเกินกว่าผู้อื่นและไม่ด้อย ต่ำทรามไปจากหมู่คณะ หมู่คณะใดมีคุณธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวไว้ดังกล่าว หมู่คณะนั้นย่อมจะมีความมั่นคง... ”
(พระราชทานแก่สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ในการเปิดประชุมประจำปี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๕)
              “ ...เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปีแล้ว ที่บ้านเมืองของเรามีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด ทั้งใน วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและของประชาชนทั่วไป เป็นเหตุให้เราต้องประคับประคองตัวมากเข้า เพื่อให้อยู่รอดและก้าวต่อไปได้โดยสวัสดี ตามแนวทางที่เป็นมาแล้ว น่าจะเชื่อได้ว่าเราจะต้องประคองตัวกันต่อไปอีกนาน ดังนั้นทุกคนจึงควรจะรับรู้ความจริงทั้งนี้ แล้วเอาใจใส่ปฏิบัติตัวให้เป็นระเบียบและขมักเม้นยิ่งขึ้น พร้อมกับระมัดระวังการดำเนินชีวิตให้เป็นไปโดยประหยัด จักได้ไม่เกิดความติดขัดเดือดร้อนขึ้น เพราะความประมาทและความรู้เท่าทันสถานการณ์ สำคัญที่สุด ขอให้พิจารณาให้เข้าใจว่า สภาวะที่บีบรัด ความเป็นอยู่ของเราที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลกระเทือนมาจากความวิปริตของวิถีความเปลี่ยนแปรทางเศรษฐกิจ การเมือง และทางอื่น ๆ ของโลก เราจึงไม่สามารถที่จะหลีกพ้นได้ หากแต่จะต้องเผชิญปัญหาอย่างผู้มีสติ มีปัญญา มีความเข้มแข็งและกล้าหาญ เพื่อเราจักได้รวมกันอยู่อย่างมั่นคงไพบูลย์... ”
(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๒ วันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ )
              “ ...ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะคุณธรรมอันนี้เป็นมูลฐานอันสำคัญที่จะยังความเจริญและความปึกแผ่นแก่ สังคม เป็นบ่อเกิดแห่งความสามัคคีกลมเกลียว ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริตซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเองและต่อผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ไม่เอารัดเอาเปรียบ สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมายย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม ไม่บิดเบือนความหมายของตัวบทกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย ความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเหมือนหนึ่งเกราะคุ้มภัยแก่ท่านตลอดไป ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ สุจริตคือเกราะบัง สาตรพ้อง ” ... ”
(พระราชดำรัส การพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๖)
              “ ...คำว่าพอเพียง มีความหมายว่า พอมีพอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะได้ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง แปลจากภาษาฝรั่งได้ว่าให้ยืนบนขาตัวเอง หมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นที่จะยืนอยู่ คำว่า พอ คนเราถ้าพอในความต้องการมันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย...พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ควรคิดว่าทำอะไรพอเพียง..ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่งและต้องการให้คนอื่นมี ความคิดอย่างเดียวกัน ซึ่งอาจไม่ถูก อันนี้ไม่ใช่พอเพียง การพอเพียงในความคิดก็คือเสนอความคิดของตัวและปล่อยให้คนอื่นพูดบ้าง และไปพิจารณาว่าที่เขาพูดและที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ถ้าไม่เข้าเรื่องก็ไปแก้ไข เพราะถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องจะกลายเป็นการทะเลาะ...ฉะนั้นความพอเพียง ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล... ”
(พระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลต่าง ๆ จำนวน ๒๐,๐๐๘ คน เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคลในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑)
              พระราชดำรัสเกี่ยวกับคุณธรรม ๗ ประการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอน้อมนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยเกิด ความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูจิตใจให้ดำเนินชิวิตและปฏิบัติตาม แนวพระราชดำรัสดังกล่าว เพื่อประเทศไทยจะได้ดำรงอยู่บนพื้นฐานของ ” วิถีชีวิตไทยที่สงบสุขและยั่งยืน ”
เอกสารอ้างอิง หนังสือประมวลคำในพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งแต่พุทธ ศักราช๒๔๙๓ – ๒๕๔๖ ที่เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กฤษณา พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เขียนเมื่อ  พฤษภาคม ๒๕๕๐


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.http://www.culture.go.th/
 

0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu