20120924

ความพอเพียงในพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

“ถ้า เราเพียงแต่อยากจะมีความสุข เราก็จะหาได้ในไม่ช้านัก แต่เราอยากจะเป็นสุขยิ่งกว่าผู้อื่นก็ออกจะยาก เพราะเราไปเชื่อว่าคนอื่น ๆ นั้น เป็นสุขยิ่งกว่าที่เขาเป็นจริง ๆ ”
                 ข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็นคติพจน์ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคัดมาจาก มงเตสกิเยอ ( Montesquieu ) นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ทรงเขียนพระราชทานในสมุดบันทึกคติพจน์ของคุณ ขวัญแก้ว วัชโรทัย
                 ในการดำเนินชีวิต ให้มีความสุขในพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือ คน ที่มีความพอเพียงในตนเอง ขณะเดียวกันต้องหมั่นสำรวจตัวเอง คือ ฝึกอบรมจิตให้ประกอบแต่กรรมดี ไม่หวังสิ่งตอบแทนหรือผลประโยชน์ ที่จะทำให้เกิดความโลภ ความหลง เพราะมีความโลภแล้วมีเท่าไรก็ไม่พอ ต้องรู้จักพอ จึงจะมีความสุข ความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความสงบใจนั่นเอง
                 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสอนว่า การจะทำให้เกิดความพอเพียงในจิตใจได้ต้องหมั่น ฝึกอบรมจิต นำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ การมีสันโดษ คือ มีความยินดี ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ให้รู้จักกำจัดความโลภ ความปรารถนา ซึ่งเมื่อมีมากเกินไปจะชักนำจิตใจ ชักนำความประพฤติ ให้ เป็นไปทางทุจริต ทางเสื่อม อันเป็นพื้นฐานของความวุ่นวายทั้งในตัวบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทรงมีพระราชดำริเรื่อง สันโดษไว้ ๔ แบบ คือ
                 สันโดษในความคิด คือ ระงับความคิดที่ฟุ้งซ่าน มิให้เกิดความอยากได้มากเกินไป หรืออยากได้ในทางที่ผิด ได้แก่ การคิดประพฤติควรแก่ศีลธรรม คือ ของใดก็ตามที่ควรกับฐานะของเรา ควรแก่ความสามารถเรา แต่ถ้าไปยินดีกับของนั้นแล้ว จะทำให้ผิดศีลธรรม เสียชื่อเสียง เสียเกียรติยศ เสียศักดิ์ศรี ก็ไม่ควรยินดีกับของสิ่งนั้น เช่น การไม่เป็นคนลุแก่อำนาจ ความมักได้ ฯลฯ
                 สันโดษในการแสวงหา คือ ยินดีที่จะแสวงหาแต่สิ่งที่ควรแก่กำลังฐานะ และในการที่ถูกที่ควร พระพุทธศาสนามุ่งให้ทุกคนหาปัจจัย๔ หล่อเลี้ยงร่างกาย พอเพียงเพื่อให้สังขารนี้สามารถดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ จากนั้นก็ใช้ร่างกายนี้สร้างความดีต่าง ๆ ให้เต็มที่ทุกรูปแบบทุกโอกาส มิได้มุ่งหมายให้คนเราดิ้นรนไขว่คว้า ทะเยอะทะยานจนเกินเหตุ เพื่อให้มีวัตถุต่าง ๆ พรั่งพร้อมบริบูรณ์ไว้บำรุงบำเรอตน
                 สันโดษในการรับ คือ รับแต่ที่ควรรับ และรับพอประมาณ มิใช่ว่าเมื่อจะได้หรือเมื่อมีผู้จะให้ก็รับ ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่ได้เป็นสิ่งที่มีโทษก็มี ทั้งบุคคลที่จะให้อาจมีความปรารถนาในทางไม่ชอบก็มี เช่น ให้เพื่อหวังผลตอบแทนที่ยิ่งกว่า
                 สันโดษในการบริโภค คือ ยินดีบริโภคใช้สอยสิ่งที่ได้มาด้วยการพิจารณาให้รู้ถึงประโยชน์ที่ต้องการ การบริโภคควรคำนึงถึงประโยชน์ที่พึงจะได้ มากกว่าเพื่อสนองตัณหา และให้เหมาะกับฐานะและกำลังของตน
                 พระราชจริยาวัตรในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ไม่โปรดการสะสมทรัพย์สิ่งของ มากเกินความจำเป็น ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร มีผู้ทูลเกล้าฯถวายสิ่งของต่าง ๆ ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค มีอาหาร ผลไม้ เครื่องจักสาน เป็นต้น โปรดเกล้าฯให้นำไปพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าหลวง มหาดเล็กตามสมควร เมื่อขึ้นปีใหม่ มีงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ โปรดเกล้าฯให้นำของ ถวายต่าง ๆ โดยเฉพาะเครื่องจัก สาน มาออกฉลากรางวัลเพื่อการกุศล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ประทานของถวายสมทบให้ออกฉลากด้วย ฉลากราคาใบละ ๒๐ บาท นอกจากแขกที่ได้รับพระราชทานเลี้ยงแล้ว ข้าหลวง มหาดเล็ก และคนในวังก็ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ช่วยกันซื้อฉลากได้
                 เรื่องสันโดษในการบริโภค สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงคำนึงถึงมากทั้ง ๆ ที่ทรงอยู่ในฐานะที่จะทรงใช้สอยสิ่งที่ดีที่บำรุงความสุข ความสะดวกได้ไม่มีสิ้นสุด พระกระยาหารของพระองค์ไม่โปรดให้ทำมากสิ่ง แต่ให้ครบธาตุอาหาร ตามหลักโภชนาการ การฉลองพระองค์ปีหนึ่งทรงตัดใหม่เพียง ๒ ชุด ส่วนเครื่องประดับทรงสร้อยข้อพระกรเป็นนพเก้าเพียงเส้นเดียว ทรงรับสั่งว่าเข้ากับฉลองพระองค์ได้ทุกสี พระธำมรงค์ที่ทรงประจำเป็นเพชรสลักพระนามาภิไธย่อสว.บนหน้าเพชร พระธำมรงค์องค์นี้เป็นของสมเด็จพระพันวัสสาฯ พระองค์ไม่ทรงสะสมเครื่องเพชรพลอยใหม่ ๆ เลยรับสั่งใช้เงินช่วยคนดีกว่า ทรงประหยัด มัธยัสถ์เรื่องการเงินที่ใช้จ่ายส่วนพระองค์ไม่เฉพาะพระราชทรัพย์ส่วน พระองค์ แต่ทรงห่วงไปถึงเงินราชการที่จะใช้สอยในการที่เกี่ยวกับพระองค์ด้วย เช่น ครั้งหนึ่ง กรมป่าไม้ดำริสร้างที่ประทับบนภูกระดึงถวาย เพราะเป็นที่ทรงทราบกันทั่วไปว่า พระองค์โปรดที่ประทับบนภูกระดึงมาก เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงห้ามไม่โปรดให้ทางการ สร้างถวาย เพราะทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง
                 คำว่า “ สันโดษ ” คือ การรู้จักพอ หรือมีความพอเพียงในพระราชดำริสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้แก่ ความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่ สันโดษจะช่วยควบคุมใจไม่ให้ทะเยอทะยาน ในความต้องการที่เกินกำลัง แต่ยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนเป็นอยู่ คนสันโดษจะไม่ใช้จ่ายสุลุ่ยสุร่าย คือ ไม่จับจ่ายใช้สอยโดยไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลือง ไม่ฟุ่มเฟือย คือไม่ใช้จ่ายเกินควร แต่จะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นโดยคำนึงถึงฐานะของตน ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะ ไม่อวดมั่งมีหรือสะสมเกินฐานะ
                 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๐ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม พระราชดำริ ของพระองค์เรื่อง “ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง ” คือ พอเพียงในความคิด พอเพียงในการแสวงหา พอเพียงในการรับ และพอเพียงในการบริโภค ซึ่งความพอเพียงที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการศาสนาทั้งสิ้น หากประชาชนชาวไทยยึดหลักความพอเพียง ดังกล่าวได้จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เอื้ออาทรต่อกัน รวมทั้งคนในชาติเกิดความสามัคคีปรองดองกัน ประเทศชาติจะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป
เอกสารอ้างอิง หนังสือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โครงการไทยศึกษาฝ่ายวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 กฤษณา พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เขียนเมื่อ กรกฎาคม ๒๕๕๐


ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.culture.go.th/
 

0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu