20121018

คุณธรรม-จริยธรรมต่างกันอย่างไร

คุณธรรม-จริยธรรมต่างกันอย่างไร
 
     เมื่อปลายปี 2550 คณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม วัฒนธรรม และศิลปะ ได้จัดรายการแถลงข่าว โดยยกย่องคุณธรรมแห่งการรักแม่เป็นคุณธรรมเริ่มแรกแห่งคุณธรรมทั้งหลาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเห็นดีเห็นชอบจากสื่อมวลชนทั้งหลายและผู้ร่วมงาน ให้กำลังใจมากมาย และ พลเอกปรีชา โรจนเสน ประธานกรรมาธิการ ได้กำชับให้ผมพยายามสร้างความเข้าใจในความหมายของคำคุณธรรมจริยธรรมให้ กระจ่างกันเสียที ผมเห็นด้วย จึงค้นคว้ามาเสนอในคอลัมน์นี้
     ขอเริ่มที่คำคุณธรรมก่อน เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2542 ดูที่คำคุณธรรม พบคำนิยามสั้น ๆ ว่าสภาพคุณงามความ ดี จากนิยามนี้จึงได้ยินคำอธิบายจากหลายคนว่า “ได้แก่ความดีที่อยู่ภายใน” ซึ่งน่าจะหมายความว่าเป็นภาวะรวม ๆ แห่งการทำดีทุกอย่าง อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า goodness เพื่อหมายถึงภาวะแห่งการทำดีอย่างรวม ๆ เมื่อเทียบกับจริยธรรมซึ่งพจนานุกรมเดียวกันนิยามว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงภาวะการทำดีที่กำหนดได้เป็น ข้อ ๆ เหมือนกฎหมายที่กำหนดได้เป็นมาตรา ๆ ศีลธรรมที่กำหนดได้เป็นข้อ ๆ เหมือนศีล 5 กำหนด ได้เป็น 5 ข้อ บัญญัติ 10 ประการกำหนดได้เป็น 10 ข้อ
     เปิดดูพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาของราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2532 ที่คำว่าคุณธรรม พบคำแปลว่า virtue และเปิดดูที่คำ virtue ก็พบคำแปลและนิยามว่า “คุณธรรม : หลักที่มนุษย์ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต เช่น ความยุติธรรม ความเมตตา ฯลฯ” ซึ่งน่าจะตีความได้ว่าหมายถึงความดีเป็นข้อ ๆ ซึ่งน่าจะตรงกับคำนิยาม “จริยธรรม” ของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2542 นั่นเอง แค่นี้ก็สับสนพอดูอยู่แล้วสำหรับผู้อยากได้นิยามชัดเจน
     สำรวจดูจากงานเขียนของนักเขียนอื่น ๆ ในภาษาไทย ก็จะพบคำนิยามและคำอธิบายต่าง ๆนานา ซึ่งก็พอจะตีความได้อย่างรวม ๆ ว่า หมายถึงหลักและแนวปฏิบัติ ซึ่งเมื่อยังไม่ปฏิบัติเรียกว่าคุณธรรม หากปฏิบัติก็เป็นจริยธรรม (อาจจะตีความจากคำอธิบายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกระมังที่นิยาม จริยธรรมว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ” โดยยกเอา “ข้อ” ออก แล้วเอาคำว่า “การ” ใส่เข้าไปแทน กลายเป็น “ธรรมที่เป็นการปฏิบัติ”
     ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ นิยามของพระเดชพระคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขณะดำรงสมณศักดิ์พระเมธีธรรมาภรณ์ (พ.ศ. 2537) ว่า “คุณธรรมเป็นเรื่องของสัจธรรม ทำให้เกิดการประพฤติ ปฏิบัติดี ทำให้เกิดการรักษาศีล กระจายออกเป็นจริยธรรมและจรรยาบรรณ จริยธรรมจึงเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับสัจธรรม จริยธรรมจึงเป็นหลักแห่งความประพฤติที่ดีงาม เพื่อประโยชน์ตนและสังคม” ตรงนี้เองกระมังเป็นที่มาของนิยามของผู้สนใจเรื่องนี้ทั่ว ๆ ไปว่า “คุณธรรมเป็นหลักความดีภายใน และจริยธรรมคือการปฏิบัติตามหลักคุณธรรม” ถือได้ว่าเข้าทิศทางสากลแล้ว แต่ก็ยังต้องช่วยกันขยายความมากกว่านี้
     สรุปก็คือ ยังมีความสับสนอยู่มากในการเข้าใจความหมายของคำว่าคุณธรรมและจริยธรรม
     ผมจะขอลองชำแหละเรื่องนี้ในภาษาอังกฤษดูก่อน เรื่องนี้ภาษาอังกฤษและภาษาตะวันตกทั้งหลายมีอยู่ 2 คำ คำหนึ่งมาจากภาษากรีก ethos ส่วนอีกคำหนึ่งมาจากภาษาละติน mores ทั้ง 2 คำ 2 ภาษามีความหมายเหมือนกันว่าการปฏิบัติโดยประเพณี ซึ่งก็หมายความว่าเป็นที่ยอมรับของมวลชนในสังคมที่กล่าวถึง ชาวกรีกเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้เป็นวิชาการก่อน เช่น แอร์เริสทาเทิลเขียนตำรา Ethica Nicomachea, Ethica Eudemia, Macra Ethica เมื่อชาวยุโรปหันมาใช้ภาษาละตินแทนภาษากรีก ตลอดยุคกลางนั้น เรื่องที่แปลมาจากภาษากรีก จะยังคงทับศัพท์เป็น Ethica นอกจากหนังสือเล่มที่สามที่แปลเป็นภาษาละตินว่า Magna Moralia
     ชาวยุโรปยุคกลางพร้อมใจกันใช้คำภาษากรีก (Ethica) สำหรับพูดถึงความคิดของชาวกรีก ซึ่งเป็นความคิดระดับปรัชญาเท่านั้น และใช้คำภาษาละติน (Moralia) สำหรับพูดถึงความคิดของพวกตน ซึ่งมีพื้นฐานบนคำสอนของศาสนาคริสต์ มีคำประนีประนอม Ethica Christiana ซึ่งหมายถึง เรื่องการทำดีตามคำสอนของศาสนาคริสต์ที่อธิบายและพิสูจน์ระดับปรัชญาเท่า นั้น
     หลังยุคกลางเมื่อมีการใช้ภาษาถิ่นต่าง ๆของยุโรป อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ ก็จะนิยมใช้ทั้งคำ Ethic (จากภาษากรีก) และ Moral (จากภาษาละติน) และใช้อย่างสับสนปนเปจนยากที่จะกำหนดได้ว่ามีความหมายต่างกันอย่างไร แม้หลายคนพยายามแยกใช้ Ethic สำหรับมิติปรัชญา และ Moral สำหรับมิติศาสนาก็ไปไม่รอด มีหลายคนพยายามแยกใช้ Ethic สำหรับระดับอธิบายตามหลักวิชาการ และ Moral สำหรับข้อปฏิบัติและคำอธิบายระดับภาษาสามัญ แต่ก็ไม่สู้จะมีคนฟัง ยังคงใช้ทั้ง 2 คำอย่างปนเปกัน โดยเอาความนิยมเป็นหลัก ผิดพลาดบ้างไม่ว่ากัน เพราะเข้าใจกันได้ แม้จะฟังแปร่ง ๆ หน่อยสำหรับผู้คร่ำหวอดก็ไม่เป็นไร
     จะขอสำรวจจำนวนคำที่เก็บอธิบายในสารานุกรมปรัชญา 2 ชุดของภาษาอังกฤษ คือ ชุด Routledge's Encyclopedia of Philosophy และชุด Macmillan's Encyclopedia of Philosophy, 2nd edition มาแสดงให้เห็นสถิติความสนใจใช้ 2 คำนี้ คือ ในบรรดาศัพท์ Ethic 46 คำ และ Moral 104 คำ Routledge เก็บคำกลุ่ม Ethic ไว้ 23 คำ และคำกลุ่ม Moral ไว้ 51 คำ ส่วน Macmillan เก็บคำกลุ่ม Ethic ไว้ 31 คำ และคำกลุ่ม Moral ไว้ 78 คำ ทั้ง 2 ฉบับเก็บกลุ่ม Ethic ไว้ร่วมกันเพียง 8 คำ และคำกลุ่ม Moral เก็บไว้ร่วมกัน 24 คำ เมื่อหักคำที่ใช้ร่วมกันแล้วก็เหลือคำที่ Routledge ใช้ส่วนตัวคือ Ethic 15 คำ และ Moral 27 คำ ส่วน Macmillan ใช้ส่วนตัวคือ Ethic 23 คำ และ Moral 54 คำ
     จากสถิตินี้จึงพอจะเห็นได้ว่าหนังสือหลักของโลกปรัชญาในภาษาอังกฤษนิยมใช้คำ Moral มากกว่า Ethic ประมาณเท่าตัว
     หากเรายึดถือเอาคำแปลของศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2548 (พิมพ์ครั้งที่ 4) เป็นหลัก ก็จะเห็นว่าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน เพราะแปลคำ Ethics ว่าจริยศาสตร์ และอธิบายว่าเป็นเรื่องของศีลธรรม ดูที่คำ Morals แปลว่าหลักจริยธรรม ทำให้ดูเหมือนกับว่า 2 คำนี้ใช้แทนกันได้
     ขณะที่ผมทำหน้าที่เผยแพร่คุณธรรมของรัฐสภาสมัย สนช. นั้น มีคนถามหนาหูว่าคำ “ศีล ธรรม” หายไปไหน เห็นมีแต่ใช้คำ “จริยธรรม” ครั้งหน้าผมจะลองชำแหละเรื่องนี้ดู ถ้าเรื่องนี้ไม่ชัดเจน การเรียนการสอนเรื่องนี้คงยุ่งยากอยู่ จะพยายามดูครับ. 



ขอบคุณบทความจาก : ครูบ้านนอก.คอม : http://www.kroobannok.com/1187
ที่มาภาพ : http://thaigoodview.com/node/39646?page=0%2C0

0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu