20121018

จากพระราชดำรัส ๔ ประการ สู่รูปธรรม การทำความดี


จากพระราชดำรัส ๔ ประการ สู่รูปธรรม การทำความดี
 

เชื่อว่าความปลื้มปิติ และความรู้สึกจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัย เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ยังคงประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกผู้ทุกนามอีกนานเท่านาน ในวันนั้น ได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจทุกๆคนที่มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้พระองค์ทรงมีกำลังใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทรงพระราชทานคุณธรรมที่เป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่จะทำให้คนไทยสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ว่า มีอยู่ ๔ ประการ คือ
ประการแรก คือ การให้ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือการที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผลทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำ นำความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงอยู่ในเหตุในผล
           พระองค์กล่าวว่า หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียว แน่น และถ่ายทอดความคิดจิตใจนี้กันต่อไป อย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและภายหน้า
           เมื่อจบพระราชดำรัสดังกล่าว เสียงตะโกนโห่ร้องด้วยความยินดีว่า “ ทรงพระเจริญๆๆๆๆ ” ที่ดังขึ้นอย่างกึกก้องต่อเนื่อง ณ บริเวณนั้น เชื่อว่า มันได้ดังขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศด้วย ซึ่งคำที่เปล่งออกมาด้วยจิตใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ก็เปรียบเสมือนกับคำมั่นสัญญาที่พวกเราชาวไทยได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์ ท่านว่า เราพร้อมที่จะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
           ในยุคปัจจุบันที่กระแส “ วัตถุนิยม ” หรือ “ ทุนนิยม ” ได้หล่อหลอมให้คนเห็น “ เงิน ” เป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ทำให้คนสมัยนี้ร้อนรุ่ม ตกอยู่ในความโลภ และเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น เพราะเมื่อเราเห็น “ เงิน ” เป็นแก้วสารพัดนึก ที่จะบันดาลทั้งความสะดวกสบาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ตลอดจนการยอมรับนับถือให้เราได้แล้ว คนจำนวนมากจึงพร้อมจะทำทุกสิ่ง แม้แต่การใช้เล่ห์เพทุบายทุกวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ เงิน ” เพื่อจะได้ใช้เป็นอำนาจ “ ซื้อ ” หรือ “ ต่อรอง ” ทุกอย่างตามที่ตนปรารถนา โดยหวังแต่ความร่ำรวย และความเจริญก้าวหน้าส่วนตัว และของพวกพ้อง จนกลายเป็นคนขาดความรัก ความเมตตาต่อผู้อื่น ซึ่งคนประเภทนี้กำลังทวีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้บ้านเมืองของเรา หากจะเปรียบเป็น “ นาวา ” ก็กำลังโต้คลื่นลม มรสุมแห่งทุนนิยม ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า จนนาวาของเราตกอยู่ในวิกฤตที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสมือนประภาคารที่ส่องให้เราได้ยึดไว้เป็นแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต มิให้ปัดเป๋ไปตามคลื่นลม แต่ให้ตั้งหลักนำเรือของเราฝ่าฟันกระแสไปอย่างมุ่งมั่นที่จะไปสู่ฝั่งได้ อย่างรอดปลอดภัย โดยเรือไม่ล่มหรือแตกไปเสียก่อน

           การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำรัสทั้งสี่ประการข้างต้นนั้น เป็นคุณธรรมที่เราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนาสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ สื่อมวลชน พ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักบวช และพระภิกษุสงฆ์ด้วย ซึ่งการน้อมนำพระราชดำรัสไปสู่การกระทำดี ที่เป็นรูปธรรมนี้ สามารถเริ่มด้วยการ ให้ทุกคนทำตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยยึดหลักธรรมตามศาสนาของตนเป็นพื้นฐาน อันได้แก่

•  ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ให้ตั้งใจเล่าเรียน ช่วยติวให้เพื่อน ไม่หวงวิชา ไม่คิดโกงข้อสอบ ไม่ก่อการทะเลาะวิวาท ทำตัวเป็นหัวโจกในทางที่ไม่ดี มีความเคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พูดจามีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ กลับบ้านก็ให้รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน ไม่คิดฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยซื้อของแบรนด์เนมหรือเปลี่ยนมือถือบ่อยทั้งๆที่ยังไม่มีรายได้ ให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบของสถานศึกษา ไม่ข้องแวะกับยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ช่วยดึงเพื่อนให้ห่างไกลจากอบายมุขด้วย เป็นต้น


•  ถ้าเป็นพ่อแม่ ก็ต้องเสียสละเวลาให้ลูกบ้าง อย่าตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินแต่เพียงอย่างเดียวอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สถานศึกษาในการอบรมสั่งสอนลูกเท่านั้น แต่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ในการสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ไม่เป็นภาระกับสังคมด้วย ควรมอบหมายหน้าที่การงานให้ทำบ้าง เพื่อลูกจะได้รู้จักรับผิดชอบ มิใช่เอาแต่เรียนแต่อย่างเดียว ควรสอนลูกให้รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้ด้อยโอกาส สอนให้ไม่ดูถูกดูแคลนผู้ที่ด้อยกว่า สอนให้มีเมตตาต่อผู้อื่น โดยอาจจะพาลูกไปทำบุญตามวาระสำคัญต่างๆ ฯลฯ

•  ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องตั้งใจสั่งสอนลูกศิษย์ ให้ความรู้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องสอนศิษย์ให้เป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม มิใช่แค่เรียนเก่งอย่างเดียว ทำตนให้ศิษย์เคารพรักด้วยความจริงใจ มิใช่เคารพตามหน้าที่ อย่าคิดแต่จะสอนพิเศษ หรือใช้เวลาสอนไปหารายได้อื่นๆเพิ่ม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ศิษย์ เป็นต้น

•  ถ้าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ปฏิบัติงานด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส ตั้งใจบริการ ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ หรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หรือสักแต่ทำให้เสร็จ หรือทำงานเอาหน้า แต่ให้ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองอย่างจริงจัง และนึกถึงผลที่ยั่งยืน มีความซื่อสัตย์ ไม่เอนเอียงไปหาผลประโยชน์เข้าตนเองหรือพวกพ้องไม่ว่าจะมีโอกาสหรือไม่ก็ตาม ฯลฯ

•  ถ้าเป็นสื่อมวลชน ก็พยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมเพิ่มขึ้น สิ่งใดเป็นพิษเป็นภัยต่อเยาวชนก็เสนอให้ลดน้อยลงไป พยายามชี้แนะแนวทางที่มีสาระความรู้แก่ประชาชนและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อเปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างสังคมของเรา ให้เป็น “ สังคมอุดมปัญญา ” มิใช่ปัญหา

•  ถ้าเป็นดารานักร้องนักแสดง ก็อย่าคิดว่าเข้ามาในวงการเพียงเพื่อหาเงินระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ให้ทำตัวเป็น “ แบบอย่าง ” แก่น้องๆเยาวชนที่รักเรา ปลื้มเราบ้าง เช่น ไม่มั่วเซ็กส์ เสพยา บ้าพนัน ฯลฯ แต่ให้น้องๆเขาได้เห็นตัวอย่างที่ดีๆ เพื่อว่าเขาจะได้ทำตัวเป็น เด็กดี คนดีในสังคมตามแบบดารานักร้องที่เขาชื่นชอบ และตัวเราเองก็จะได้ภูมิใจว่ามีส่วนได้ช่วยชาติบ้านเมืองอีกทางหนึ่ง

•  ถ้าเป็นนักการเมือง ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามสัตย์สาบานที่ว่า จะเข้ามารับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง เต็มที่ อย่าทำเพียงลมปาก หรือพูดอย่าง ทำอย่าง และอย่าใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ญาติมิตร หรือพวกพ้อง ให้ใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรมถูกต้อง ทั้งตามหลักกฎหมายและหลักจริยธรรม ขอให้เป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่ประชาชนคนไทยเคารพรักได้อย่างสนิทใจ และเชื่อใจ

•  ถ้าเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ แม้โดยธรรมชาติ จะต้องมุ่งเน้น “ กำไร ” เป็นตัวตั้ง แต่ก็ขอให้ผลิตสินค้าที่มี คุณภาพ หรือให้บริการที่สมราคา อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค หรือลูกค้า อย่า “ ย้อมแมวขาย ” อย่าฉกฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควร ผู้ที่ขายของกิน ก็ควรรักษาความสะอาด และไม่ใช้สิ่งที่เป็นพิษหรือสิ่งปลอมปนใส่ไปในอาหาร เครื่องดื่ม เพราะหวังกำไรเพิ่มขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการทำลายสุขภาพผู้อื่น และมีผลให้บ้านเมืองเรามีพลเมืองที่อ่อนแอ ฯลฯ

•  ถ้าเป็นนักบวช หรือพระสงฆ์ ก็ขอให้ดำเนิน “ ตามรอยพระพุทธองค์ ” เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และให้ประชาชนเคารพศรัทธาได้จากวัตรที่ปฏิบัติ และเป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างแท้จริง ไม่ประพฤตินอกรีตนอกรอย อันเป็นการทำลายศาสนาทางอ้อม และไม่ชักจูงชาวบ้านไปสู่หนทางแห่งความหลงมัวเมาในกิเลส เป็นต้น
           ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ที่แต่ละคนแค่ทำตามหน้าที่ ก็จะมีผลเป็นรูปธรรมให้เกิดคุณธรรม ๔ ประการ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่ามิใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ เพียงแต่ขอให้พวกเราทุกคนมีความมุ่งมั่น เหมือนวันที่เราตั้งใจใส่เสื้อเหลืองเพื่อไปถวายพระพรเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายนที่ผ่านมาก็พอแล้ว


อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu