20121018

จากพระราชดำรัส ๔ ประการ สู่รูปธรรม การทำความดี


จากพระราชดำรัส ๔ ประการ สู่รูปธรรม การทำความดี
 

เชื่อว่าความปลื้มปิติ และความรู้สึกจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัย เนื่องในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ยังคงประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกผู้ทุกนามอีกนานเท่านาน ในวันนั้น ได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบขอบใจทุกๆคนที่มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดี และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคน ทุกฝ่าย ทำให้พระองค์ทรงมีกำลังใจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทรงพระราชทานคุณธรรมที่เป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่จะทำให้คนไทยสามารถร่วมมือร่วมใจกันรักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ รุ่งเรืองสืบต่อกันไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง ว่า มีอยู่ ๔ ประการ คือ
ประการแรก คือ การให้ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
ประการที่สอง คือการที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงานประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผลทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ
ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน
ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำ นำความคิดเห็นของตนให้ถูกต้องเที่ยงตรงอยู่ในเหตุในผล
           พระองค์กล่าวว่า หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกันในทางที่ดี ที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลในกาย ในใจของคนไทย ก็มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียว แน่น และถ่ายทอดความคิดจิตใจนี้กันต่อไป อย่าให้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและภายหน้า
           เมื่อจบพระราชดำรัสดังกล่าว เสียงตะโกนโห่ร้องด้วยความยินดีว่า “ ทรงพระเจริญๆๆๆๆ ” ที่ดังขึ้นอย่างกึกก้องต่อเนื่อง ณ บริเวณนั้น เชื่อว่า มันได้ดังขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศด้วย ซึ่งคำที่เปล่งออกมาด้วยจิตใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ก็เปรียบเสมือนกับคำมั่นสัญญาที่พวกเราชาวไทยได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระองค์ ท่านว่า เราพร้อมที่จะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสไปปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
           ในยุคปัจจุบันที่กระแส “ วัตถุนิยม ” หรือ “ ทุนนิยม ” ได้หล่อหลอมให้คนเห็น “ เงิน ” เป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ทำให้คนสมัยนี้ร้อนรุ่ม ตกอยู่ในความโลภ และเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น เพราะเมื่อเราเห็น “ เงิน ” เป็นแก้วสารพัดนึก ที่จะบันดาลทั้งความสะดวกสบาย ชื่อเสียง เกียรติยศ ตลอดจนการยอมรับนับถือให้เราได้แล้ว คนจำนวนมากจึงพร้อมจะทำทุกสิ่ง แม้แต่การใช้เล่ห์เพทุบายทุกวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ เงิน ” เพื่อจะได้ใช้เป็นอำนาจ “ ซื้อ ” หรือ “ ต่อรอง ” ทุกอย่างตามที่ตนปรารถนา โดยหวังแต่ความร่ำรวย และความเจริญก้าวหน้าส่วนตัว และของพวกพ้อง จนกลายเป็นคนขาดความรัก ความเมตตาต่อผู้อื่น ซึ่งคนประเภทนี้กำลังทวีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้บ้านเมืองของเรา หากจะเปรียบเป็น “ นาวา ” ก็กำลังโต้คลื่นลม มรสุมแห่งทุนนิยม ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า จนนาวาของเราตกอยู่ในวิกฤตที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสมือนประภาคารที่ส่องให้เราได้ยึดไว้เป็นแสงสว่างนำทางแห่งชีวิต มิให้ปัดเป๋ไปตามคลื่นลม แต่ให้ตั้งหลักนำเรือของเราฝ่าฟันกระแสไปอย่างมุ่งมั่นที่จะไปสู่ฝั่งได้ อย่างรอดปลอดภัย โดยเรือไม่ล่มหรือแตกไปเสียก่อน

           การดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำรัสทั้งสี่ประการข้างต้นนั้น เป็นคุณธรรมที่เราทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนาสามารถปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ สื่อมวลชน พ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักบวช และพระภิกษุสงฆ์ด้วย ซึ่งการน้อมนำพระราชดำรัสไปสู่การกระทำดี ที่เป็นรูปธรรมนี้ สามารถเริ่มด้วยการ ให้ทุกคนทำตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยยึดหลักธรรมตามศาสนาของตนเป็นพื้นฐาน อันได้แก่

•  ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษา ก็ให้ตั้งใจเล่าเรียน ช่วยติวให้เพื่อน ไม่หวงวิชา ไม่คิดโกงข้อสอบ ไม่ก่อการทะเลาะวิวาท ทำตัวเป็นหัวโจกในทางที่ไม่ดี มีความเคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ พูดจามีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ กลับบ้านก็ให้รู้จักช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานบ้าน ไม่คิดฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยซื้อของแบรนด์เนมหรือเปลี่ยนมือถือบ่อยทั้งๆที่ยังไม่มีรายได้ ให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบของสถานศึกษา ไม่ข้องแวะกับยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ช่วยดึงเพื่อนให้ห่างไกลจากอบายมุขด้วย เป็นต้น


•  ถ้าเป็นพ่อแม่ ก็ต้องเสียสละเวลาให้ลูกบ้าง อย่าตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินแต่เพียงอย่างเดียวอย่าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ สถานศึกษาในการอบรมสั่งสอนลูกเท่านั้น แต่พ่อแม่ต้องทำหน้าที่ในการสั่งสอนลูกให้เป็นคนดี ไม่เป็นภาระกับสังคมด้วย ควรมอบหมายหน้าที่การงานให้ทำบ้าง เพื่อลูกจะได้รู้จักรับผิดชอบ มิใช่เอาแต่เรียนแต่อย่างเดียว ควรสอนลูกให้รู้จักเสียสละ ช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้ด้อยโอกาส สอนให้ไม่ดูถูกดูแคลนผู้ที่ด้อยกว่า สอนให้มีเมตตาต่อผู้อื่น โดยอาจจะพาลูกไปทำบุญตามวาระสำคัญต่างๆ ฯลฯ

•  ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ ก็ต้องตั้งใจสั่งสอนลูกศิษย์ ให้ความรู้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องสอนศิษย์ให้เป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม มิใช่แค่เรียนเก่งอย่างเดียว ทำตนให้ศิษย์เคารพรักด้วยความจริงใจ มิใช่เคารพตามหน้าที่ อย่าคิดแต่จะสอนพิเศษ หรือใช้เวลาสอนไปหารายได้อื่นๆเพิ่ม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี และชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่ศิษย์ เป็นต้น

•  ถ้าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ปฏิบัติงานด้วยความยิ้มแย้ม แจ่มใส ตั้งใจบริการ ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ หรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หรือสักแต่ทำให้เสร็จ หรือทำงานเอาหน้า แต่ให้ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมืองอย่างจริงจัง และนึกถึงผลที่ยั่งยืน มีความซื่อสัตย์ ไม่เอนเอียงไปหาผลประโยชน์เข้าตนเองหรือพวกพ้องไม่ว่าจะมีโอกาสหรือไม่ก็ตาม ฯลฯ

•  ถ้าเป็นสื่อมวลชน ก็พยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมเพิ่มขึ้น สิ่งใดเป็นพิษเป็นภัยต่อเยาวชนก็เสนอให้ลดน้อยลงไป พยายามชี้แนะแนวทางที่มีสาระความรู้แก่ประชาชนและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เพื่อเปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างสังคมของเรา ให้เป็น “ สังคมอุดมปัญญา ” มิใช่ปัญหา

•  ถ้าเป็นดารานักร้องนักแสดง ก็อย่าคิดว่าเข้ามาในวงการเพียงเพื่อหาเงินระยะหนึ่งเท่านั้น แต่ให้ทำตัวเป็น “ แบบอย่าง ” แก่น้องๆเยาวชนที่รักเรา ปลื้มเราบ้าง เช่น ไม่มั่วเซ็กส์ เสพยา บ้าพนัน ฯลฯ แต่ให้น้องๆเขาได้เห็นตัวอย่างที่ดีๆ เพื่อว่าเขาจะได้ทำตัวเป็น เด็กดี คนดีในสังคมตามแบบดารานักร้องที่เขาชื่นชอบ และตัวเราเองก็จะได้ภูมิใจว่ามีส่วนได้ช่วยชาติบ้านเมืองอีกทางหนึ่ง

•  ถ้าเป็นนักการเมือง ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติตามสัตย์สาบานที่ว่า จะเข้ามารับใช้ชาติบ้านเมืองอย่างจริงจัง เต็มที่ อย่าทำเพียงลมปาก หรือพูดอย่าง ทำอย่าง และอย่าใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ญาติมิตร หรือพวกพ้อง ให้ใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรมถูกต้อง ทั้งตามหลักกฎหมายและหลักจริยธรรม ขอให้เป็นนักการเมืองพันธุ์ใหม่ที่ประชาชนคนไทยเคารพรักได้อย่างสนิทใจ และเชื่อใจ

•  ถ้าเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ แม้โดยธรรมชาติ จะต้องมุ่งเน้น “ กำไร ” เป็นตัวตั้ง แต่ก็ขอให้ผลิตสินค้าที่มี คุณภาพ หรือให้บริการที่สมราคา อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค หรือลูกค้า อย่า “ ย้อมแมวขาย ” อย่าฉกฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควร ผู้ที่ขายของกิน ก็ควรรักษาความสะอาด และไม่ใช้สิ่งที่เป็นพิษหรือสิ่งปลอมปนใส่ไปในอาหาร เครื่องดื่ม เพราะหวังกำไรเพิ่มขึ้น เพราะเท่ากับเป็นการทำลายสุขภาพผู้อื่น และมีผลให้บ้านเมืองเรามีพลเมืองที่อ่อนแอ ฯลฯ

•  ถ้าเป็นนักบวช หรือพระสงฆ์ ก็ขอให้ดำเนิน “ ตามรอยพระพุทธองค์ ” เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี และให้ประชาชนเคารพศรัทธาได้จากวัตรที่ปฏิบัติ และเป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างแท้จริง ไม่ประพฤตินอกรีตนอกรอย อันเป็นการทำลายศาสนาทางอ้อม และไม่ชักจูงชาวบ้านไปสู่หนทางแห่งความหลงมัวเมาในกิเลส เป็นต้น
           ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ที่แต่ละคนแค่ทำตามหน้าที่ ก็จะมีผลเป็นรูปธรรมให้เกิดคุณธรรม ๔ ประการ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่ามิใช่เรื่องยากที่จะปฏิบัติ เพียงแต่ขอให้พวกเราทุกคนมีความมุ่งมั่น เหมือนวันที่เราตั้งใจใส่เสื้อเหลืองเพื่อไปถวายพระพรเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายนที่ผ่านมาก็พอแล้ว


อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

๑๐ วิธีทำบุญ ให้ได้บุญ


๑๐ วิธีทำบุญ ให้ได้บุญ


  คนไทยเรานั้นเป็นพวกที่ชอบทำบุญ แต่บุญที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่มักจะเป็นการบริจาคเงินหรือปัจจัยในโอกาสต่างๆ  เช่น ช่วยไถ่ชีวิตโค-กระบือ  ซื้อโลงศพ ช่วยบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม สร้างห้องส้วมให้โรงเรียน  หรือช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นการทำบุญที่หลากหลาย  แต่โดยแท้จริงแล้วก็ยังอยู่ในเรื่อง “ให้ทาน” เป็นหลัก  แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีโอกาสทำทานดังกล่าวด้วยซ้ำ  ครั้นจะทำบุญใส่บาตรหรือไปวัดใกล้บ้าน  ข่าวในทางลบของพวกอลัชชีก็ทำให้หลายคนเสื่อมศรัทธา และห่างเหินจากการทำบุญไปมาก  จนหลายคนเกิดปริวิตกว่า การที่ตนไม่ค่อยทำบุญเลยเช่นนี้  เกิดชาติหน้าหรือภายหน้าชีวิตคงต้องตกระกำลำบากกว่าคนที่ชอบทำบุญให้ทาน ประจำเป็นแน่  ซึ่งความเข้าใจข้างต้นก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่มิใช่ทั้งหมด เพราะการ “ทำบุญ” ในทางพุทธศาสนาไม่ได้มีเพียงการให้ทานหรือทำบุญกับพระและวัดเท่านั้น  แต่ยังสามารถทำได้ถึง ๑๐ วิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีเป็นอย่างไร กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอนำมาเล่าสู่กันฟังและขอเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทุกคนได้สร้างกุศล(สิ่งที่ ดี ที่ชอบ และฉลาด)ที่ทำได้ตลอดเวลา ดังต่อไปนี้
                  ก่อนอื่น มารู้จักความหมายของคำว่า “บุญ” เสียก่อน คำว่า “บุญ” โดยทั่วไปหมายถึง การกระทำความดี มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญะ” แปลว่า เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์  ดังนั้น บุญจึงเป็นเสมือนเครื่องกำจัดสิ่งเศร้าหมองที่เราเรียกกันว่า “กิเลส” ให้ออกไปจากใจ  บุญจะช่วยให้เราลด ละ เลิกความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความมีจิตใจคับแคบ อันเป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ต่างๆนานา  และช่วยให้ใจเป็นอิสระ พร้อมจะก้าวไปสู่การทำคุณงามความดีในขั้นต่อๆไป เป็นการยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ทำให้เกิดความอิ่มเอิบใจ มีความสุข   และเป็นความสุขที่สงบและยั่งยืน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นบุคคลที่มีคุณธรรม น่าเคารพยกย่อง เพราะถือว่าเป็น “คนดี” นั่นเอง

                  ในทางพระพุทธศาสนา  การทำบุญมีด้วยกัน ๑๐ วิธี  เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” หรือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ  ได้แก่

                  ๑.ให้ทาน หรือ ทานมัย อันหมายถึง การให้  การสละ หรือการเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้หรือสิ่งอื่นใด และไม่ว่าจะให้แก่ใครก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น  เพราะการให้ทานเป็นการลดความเห็นแก่ตัว  ความตระหนี่ถี่เหนียว และความคับแคบในจิตใจให้น้อยลง  ทำให้เราไม่ยึดติดในวัตถุสิ่งของ อีกทั้งสิ่งที่เราบริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับและสังคมโดยส่วนรวม การให้ทานนี้อยู่ที่ไหนๆก็ทำได้ และไม่จำเป็นต้องเงิน  เช่น การแบ่งของกินให้กับแม่บ้านที่ทำงานหรือยาม เป็นต้น ข้อสำคัญ  สิ่งที่บริจาคหรือให้ทานแก่ผู้อื่นควรเป็นสิ่งยังใช้ได้ มิใช่เป็นการกำจัดของเหลือใช้ที่หมดอายุ หมดคุณภาพให้ผู้อื่น  ผลการให้ทานดังกล่าวจะทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความปีติอิ่มเอิบใจ

                ๒.รักษาศีล หรือ สีลมัย  คำว่า ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติทางกายและวาจา  เช่น ศีล ๕  ศีล ๘ หรืออาจจะหมายถึงการรักษากายวาจาให้เรียบร้อย การรักษาศีลเป็นการฝึกฝนมิให้ไปเบียดเบียนผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการลด ละ เลิกความชั่ว  มุ่งให้กระทำความดี อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมิให้ตกต่ำลง  เช่น ไม่ไปเป็นชู้เป็นกิ๊กกับใครที่ทำงาน ทำให้ครอบครัวเขาไม่แตกแยก  เป็นแม่ค้าไม่โกหกหลอกขายของไม่ดีแก่ลูกค้า  เป็นพ่อบ้านไม่กินเหล้าเมายา ทำให้ลูกเมียมีความสุข เพื่อนบ้านก็สุข เพราะไม่ต้องทนฟังเสียงรบกวนจากการทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้ล้วนเป็นการรักษาศีลและเป็นหนึ่งในการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง  ซึ่งผลบุญข้อนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนเยือกเย็น  สุขุมด้วย

                  ๓.เจริญภาวนา หรือภาวนามัย เป็นการทำบุญอีกรูปแบบที่มุ่งพัฒนาจิตใจและปัญญา ทำให้จิตใจสงบ เห็นคุณค่าสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ซึ่งในข้อนี้หลายคนอาจจะทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น นั่งสมาธิ วิปัสสนา แต่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยากเกินกำลัง ดังนั้น อาจจะทำง่ายๆด้วยวิธีการสวดมนต์เป็นคาถาสั้นๆบูชาพระที่เราเคารพบูชาก่อนนอน ทุกคืน เช่น คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร คาถาหลวงปู่ทวด เป็นต้น การสวดมนต์เป็นประจำอย่างน้อยก็เป็นการน้อมนำจิตใจของเราไปสู่สิ่งที่เป็น มงคลในชีวิต เป็นการเตือนสติให้เรายึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติชอบตามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ เรานับถือ และผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดปัญญาแก่ผู้ปฏิบัติ

                  ๔.การอ่อนน้อมถ่อมตน หรือ อปจายนมัย หลายคนคงคิดไม่ถึงว่า การประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนจะถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการอ่อนน้อมถ่อมตนไม่ว่าจะเป็นผู้น้อยประพฤติต่อผู้ใหญ่  และการที่ผู้ใหญ่แสดงตอบด้วยความเมตตา  หรือการอ่อนน้อมต่อผู้มีคุณธรรม  รวมถึงการให้เกียรติ ให้ความเคารพต่อความคิด ความเชื่อ และวิถีปฏิบัติของบุคคลหรือสังคมอื่นที่แตกต่างจากเรานั้นเป็นการลดความยึด มั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนของเรา  ช่วยให้สังคมทุกระดับเกิดความเข้าใจต่อกัน และช่วยให้ชาติบ้านเมืองเกิดความสงบสุข จึงถือเป็นบุญอย่างหนึ่ง ผลบุญข้อนี้จะทำให้เกิดความเมตตาต่อกัน

                  ๕.การช่วยขวนขวายทำในกิจที่ชอบ หรือไวยาวัจจมัย พูดง่ายๆว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมรอบข้างในการทำกิจกรรมความดีต่างๆ เช่น ช่วยพ่อแม่ค้าขายไม่นิ่งดูดาย ช่วยสอดส่องดูแลบ้านให้เพื่อนบ้านยามที่เขาต้องไปธุระต่างจังหวัด ช่วยงานเพื่อนที่ทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา  ให้กำลังใจแก่เพื่อนที่มีความทุกข์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นบุญอีกแบบหนึ่ง และผลบุญในข้อนี้ก็จะช่วยให้เกิดความรักความสามัคคีขึ้นด้วย

                  ๖.การให้ผู้อื่นมาร่วมทำบุญกับเรา หรือ ปัตติทานมัย กล่าวคือ ไม่ว่าจะทำบุญอะไร ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มาร่วมทำบุญด้วย ไม่ขี้เหนียวหรืองกบุญเพราะอยากได้บุญใหญ่ไว้คนเดียว เช่น จะทำบุญสร้างระฆัง ก็ให้คนอื่นได้ร่วมสร้างด้วย ไม่คิดจะทำเพียงคนเดียว เพราะคิดว่าทำบุญระฆังจะได้กุศลกลายเป็นคนเด่นคนดัง เลยอยากดังเดี่ยว ไม่อยากให้ใครมาร่วมด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำงาน  ร่วมแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ถือเป็นการทำบุญในข้อนี้ด้วย ผลบุญดังกล่าวจะช่วยให้เราเป็นคนใจกว้าง และปราศจากอคติต่างๆ เพราะพร้อมเปิดใจรับผู้อื่น

                  ๗.การอนุโมทนาส่วนบุญ หรือ ปัตตานุโมทนามัย คือ  การยอมรับหรือยินดีในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น  เมื่อใครไปทำบุญมาก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย โดยไม่คิดอิจฉาหรือระแวงสงสัยในการทำความดีของผู้อื่น เช่น เพื่อนเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานมา ก็ร่วมอนุโมทนาที่เขามีโอกาสได้ไปทำบุญในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ไม่อิจฉาเขา แม้เราไม่ได้ไป ก็อย่าไปคิดอกุศลว่าเขาได้ไปเพราะชู้รักออกเงินให้ เป็นต้น  การไม่คิดในแง่ร้ายจะทำให้เรามีจิตใจไม่เศร้าหมอง แต่จะแช่มชื่นอยู่เสมอเพราะได้ยินดีกับกุศลผลบุญต่างๆอยู่ตลอดเวลา แม้จะมิได้ทำเองโดยตรงก็ตาม

                  ๘.การฟังธรรม หรือ ธรรมสวนมัย การฟังธรรมจะทำให้เราได้ฟังเรืองที่ดีมีประโยชน์ทั้งต่อสติปัญญา และการดำเนินชีวิต  ซึ่งการฟังธรรมนี้ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระท่านโดยตรง  แต่อาจจะฟังจากเทป ซีดี หรือเป็นการฟังจากผู้รู้ต่างๆ  และธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายถึงแต่เฉพาะหลักธรรมในทางศาสนาเท่านั้น  แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องจริง เรื่องดีๆที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

                  ๙.การแสดงธรรม หรือ ธรรมเทศนามัย  คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดที่ดีๆแก่ผู้อื่น ด้วยการนำธรรมะหรือเรื่องดีๆที่เป็นประโยชน์ไปบอกต่อ หรือให้คำแนะนำให้เขาได้รู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้   แนะหลักธรรมที่ดีที่เราได้ยินได้ฟังมาและปฏิบัติได้ผลแก่เพื่อนๆ  เป็นต้น ผลบุญในข้อนี้นอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังทำให้ผู้บอกกล่าวได้รับการยกย่องสรรเสริญอีกด้วย

                  ๑๐.การทำความเห็นให้ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ทิฏฐุชุกรรม คือ การไม่ถือทิฐิ  เอาแต่ความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่  แต่ให้รู้จักแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาความคิดเห็น และความเข้าใจในเรื่องต่างๆให้ถูกต้องตามธรรมอยู่เสมอ  หรือจะพูดง่ายๆว่า ให้คิดและประพฤติตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมก็ได้ ซึ่งข้อนี้แม้จะเป็นข้อสุดท้ายแต่ก็สำคัญยิ่ง เพราะไม่ว่าจะทำบุญใดทั้ง ๙ ข้อที่กล่าวมา หากมิได้ตั้งอยู่ในทำนองคลองธรรม การทำบุญนั้นก็ไม่บริสุทธิ์และให้ผลได้ไม่เต็มที่ ดังจะได้กล่าวถึงเกณฑ์การวัดบุญต่อไป

                  สำหรับการทำบุญที่จะให้ได้ผลบุญมากหรือน้อยนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ ๓ ประการคือ ๑.ผู้รับ จะต้องเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมความดี  แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระสงฆ์หรือนักบวช จะเป็นคนทั่วไปก็ได้ ถ้าผู้รับดี ผู้ทำก็ได้บุญมาก หากผู้รับไม่ดี ก็อาจจะทำให้เราได้บุญน้อย เพราะเขาอาจอาศัยผลบุญของเราไปทำชั่วได้ เช่น ให้เงินช่วยเหลือเพื่อนๆกลับเอาไปปล่อยกู้   สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น  เป็นต้น ๒.วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์หรือได้มาโดยสุจริต เป็นของที่เหมาะและมีประโยชน์ต่อผู้รับ เช่น ให้เสื้อผ้าของเล่นแก่เด็กกำพร้า เป็นต้น ของที่ให้ดีผู้ทำก็ได้บุญมาก หากได้มาโดยทุจริต แม้จะเอาไปทำบุญก็ได้บุญน้อย ๓.ผู้ให้ ต้องมีศีลมีธรรมและมีเจตนาที่เป็นบุญกุศลในการทำ  จึงจะได้บุญมาก นอกจากนี้เจตนาหรือจิตใจในขณะทำบุญก็เป็นองค์ประกอบสำคัญกล่าวคือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้  หากผู้ให้มีความตั้งใจดี  ตั้งใจทำ  เมื่อทำแล้วก็เบิกบานใจ คิดถึงบุญกุศลที่ได้ทำเมื่อใดจิตใจก็ผ่องใสเมื่อนั้น เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ทำได้บุญมาก  ถ้าไม่รู้สึกเช่นนั้น บุญก็ลดน้อยถอยลงตามเจตนา

                  ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ใครก็ตามแม้จะไม่มีโอกาส “ให้ทาน” อันเป็นการทำบุญที่ง่าย และเป็นรูปธรรมที่สุด แต่เราทุกคนก็สามารถเลือกทำบุญในลักษณะอื่นๆได้อีกถึง ๙ วิธี และเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เช่น การอ่อนน้อมถ่อมตน การช่วยเหลือแนะนำน้องๆที่ทำงาน การไม่ถือทิฐิหรือดื้อหัวชนฝา  การร่วมยินดีกับการทำบุญของเพื่อน เป็นต้น เพียงแค่นี้ก็เห็นผลทันตาแล้ว คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตนทำให้ผู้ใหญ่เมตตาต่อเรา  การช่วยเหลือเพื่อนฝูงทำให้ไปไหนเพื่อนๆก็รักใคร่ ยินดีต้อนรับ 
                  ดังนั้น   เริ่มต้นทำ “บุญ” เมื่อใด   บุญก็ส่งให้เห็น “ผล”เ มื่อนั้น

ธรรมคุณ 6


ธรรมคุณ 6


ธรรมคุณ หมายถึง คุณของพระธรรมมี 6 ประการ ดังนี้ 

1.สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรมเป็นคำสอนอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เป็นความจริงแท้ เป็นหลักครองชีวิตอันประเสริฐ

2.สันทิฏฐิโก พระธรรมนี้ผู้ปฏิบัติตามจะเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อคำผู้อื่น ผู้ที่มิได้ปฏิบัตินั้นแม้จะมีใครมาบอกและอธิบายให้ฟังก็ไม่อาจเห็นได้

3.อกาลิโก ไม่เนื่องด้วยกาลเวลา ไม่ขึ้นอยู่กับเวลาปฏิบัติตามได้พร้อมบริบูรณ์เมื่อใดก็เห็นผลเมื่อนั้น เป็นจริงตลอดเวลาไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย สิ่งที่เนื่องด้วยเวลาเป็นสิ่งที่มีเกิด มีเปลี่ยนแปลง มีดับไปตามเวลา แต่พระธรรมเป็นจริงอยู่เสมอเป็นนิจ

4.เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู คือ พระธรรมเป็นคำสอนที่ควรจะเชิญให้ใครๆ มาดู มาพิสูจน์ มาตรวจสอบ เพราะเป็นของที่จริงตลอดเวลา

5.โอปะนะยิโก ควรน้อมเข้ามา คือ เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้าไว้ในใจเพื่อยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในชีวิต จะได้บรรลุถึงความหลุดพ้น


6.ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ คือวิญญูชนรู้ได้เฉพาะตน คือพระธรรมนี้เป็นสิ่งที่วิญญูชนจะรู้ได้ และการรู้ได้นั้นเป็นของเฉพาะตน ต้องปฏิบัติตามจึงจะรู้ ทำแทนกันไม่ได้ แบ่งปันให้กันไม่ได้ ต้องประจักษ์ด้วยตนเอง 


ที่มา : http://www.kroobannok.com

คุณธรรม-จริยธรรมต่างกันอย่างไร

คุณธรรม-จริยธรรมต่างกันอย่างไร
 
     เมื่อปลายปี 2550 คณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม วัฒนธรรม และศิลปะ ได้จัดรายการแถลงข่าว โดยยกย่องคุณธรรมแห่งการรักแม่เป็นคุณธรรมเริ่มแรกแห่งคุณธรรมทั้งหลาย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและเห็นดีเห็นชอบจากสื่อมวลชนทั้งหลายและผู้ร่วมงาน ให้กำลังใจมากมาย และ พลเอกปรีชา โรจนเสน ประธานกรรมาธิการ ได้กำชับให้ผมพยายามสร้างความเข้าใจในความหมายของคำคุณธรรมจริยธรรมให้ กระจ่างกันเสียที ผมเห็นด้วย จึงค้นคว้ามาเสนอในคอลัมน์นี้
     ขอเริ่มที่คำคุณธรรมก่อน เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2542 ดูที่คำคุณธรรม พบคำนิยามสั้น ๆ ว่าสภาพคุณงามความ ดี จากนิยามนี้จึงได้ยินคำอธิบายจากหลายคนว่า “ได้แก่ความดีที่อยู่ภายใน” ซึ่งน่าจะหมายความว่าเป็นภาวะรวม ๆ แห่งการทำดีทุกอย่าง อย่างที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า goodness เพื่อหมายถึงภาวะแห่งการทำดีอย่างรวม ๆ เมื่อเทียบกับจริยธรรมซึ่งพจนานุกรมเดียวกันนิยามว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม” ซึ่งน่าจะเข้าใจได้ว่าหมายถึงภาวะการทำดีที่กำหนดได้เป็น ข้อ ๆ เหมือนกฎหมายที่กำหนดได้เป็นมาตรา ๆ ศีลธรรมที่กำหนดได้เป็นข้อ ๆ เหมือนศีล 5 กำหนด ได้เป็น 5 ข้อ บัญญัติ 10 ประการกำหนดได้เป็น 10 ข้อ
     เปิดดูพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาของราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2532 ที่คำว่าคุณธรรม พบคำแปลว่า virtue และเปิดดูที่คำ virtue ก็พบคำแปลและนิยามว่า “คุณธรรม : หลักที่มนุษย์ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต เช่น ความยุติธรรม ความเมตตา ฯลฯ” ซึ่งน่าจะตีความได้ว่าหมายถึงความดีเป็นข้อ ๆ ซึ่งน่าจะตรงกับคำนิยาม “จริยธรรม” ของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานฉบับ พ.ศ. 2542 นั่นเอง แค่นี้ก็สับสนพอดูอยู่แล้วสำหรับผู้อยากได้นิยามชัดเจน
     สำรวจดูจากงานเขียนของนักเขียนอื่น ๆ ในภาษาไทย ก็จะพบคำนิยามและคำอธิบายต่าง ๆนานา ซึ่งก็พอจะตีความได้อย่างรวม ๆ ว่า หมายถึงหลักและแนวปฏิบัติ ซึ่งเมื่อยังไม่ปฏิบัติเรียกว่าคุณธรรม หากปฏิบัติก็เป็นจริยธรรม (อาจจะตีความจากคำอธิบายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกระมังที่นิยาม จริยธรรมว่า “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ” โดยยกเอา “ข้อ” ออก แล้วเอาคำว่า “การ” ใส่เข้าไปแทน กลายเป็น “ธรรมที่เป็นการปฏิบัติ”
     ที่น่าสนใจมาก ๆ คือ นิยามของพระเดชพระคุณท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขณะดำรงสมณศักดิ์พระเมธีธรรมาภรณ์ (พ.ศ. 2537) ว่า “คุณธรรมเป็นเรื่องของสัจธรรม ทำให้เกิดการประพฤติ ปฏิบัติดี ทำให้เกิดการรักษาศีล กระจายออกเป็นจริยธรรมและจรรยาบรรณ จริยธรรมจึงเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับสัจธรรม จริยธรรมจึงเป็นหลักแห่งความประพฤติที่ดีงาม เพื่อประโยชน์ตนและสังคม” ตรงนี้เองกระมังเป็นที่มาของนิยามของผู้สนใจเรื่องนี้ทั่ว ๆ ไปว่า “คุณธรรมเป็นหลักความดีภายใน และจริยธรรมคือการปฏิบัติตามหลักคุณธรรม” ถือได้ว่าเข้าทิศทางสากลแล้ว แต่ก็ยังต้องช่วยกันขยายความมากกว่านี้
     สรุปก็คือ ยังมีความสับสนอยู่มากในการเข้าใจความหมายของคำว่าคุณธรรมและจริยธรรม
     ผมจะขอลองชำแหละเรื่องนี้ในภาษาอังกฤษดูก่อน เรื่องนี้ภาษาอังกฤษและภาษาตะวันตกทั้งหลายมีอยู่ 2 คำ คำหนึ่งมาจากภาษากรีก ethos ส่วนอีกคำหนึ่งมาจากภาษาละติน mores ทั้ง 2 คำ 2 ภาษามีความหมายเหมือนกันว่าการปฏิบัติโดยประเพณี ซึ่งก็หมายความว่าเป็นที่ยอมรับของมวลชนในสังคมที่กล่าวถึง ชาวกรีกเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้เป็นวิชาการก่อน เช่น แอร์เริสทาเทิลเขียนตำรา Ethica Nicomachea, Ethica Eudemia, Macra Ethica เมื่อชาวยุโรปหันมาใช้ภาษาละตินแทนภาษากรีก ตลอดยุคกลางนั้น เรื่องที่แปลมาจากภาษากรีก จะยังคงทับศัพท์เป็น Ethica นอกจากหนังสือเล่มที่สามที่แปลเป็นภาษาละตินว่า Magna Moralia
     ชาวยุโรปยุคกลางพร้อมใจกันใช้คำภาษากรีก (Ethica) สำหรับพูดถึงความคิดของชาวกรีก ซึ่งเป็นความคิดระดับปรัชญาเท่านั้น และใช้คำภาษาละติน (Moralia) สำหรับพูดถึงความคิดของพวกตน ซึ่งมีพื้นฐานบนคำสอนของศาสนาคริสต์ มีคำประนีประนอม Ethica Christiana ซึ่งหมายถึง เรื่องการทำดีตามคำสอนของศาสนาคริสต์ที่อธิบายและพิสูจน์ระดับปรัชญาเท่า นั้น
     หลังยุคกลางเมื่อมีการใช้ภาษาถิ่นต่าง ๆของยุโรป อย่างเช่น ภาษาอังกฤษ ก็จะนิยมใช้ทั้งคำ Ethic (จากภาษากรีก) และ Moral (จากภาษาละติน) และใช้อย่างสับสนปนเปจนยากที่จะกำหนดได้ว่ามีความหมายต่างกันอย่างไร แม้หลายคนพยายามแยกใช้ Ethic สำหรับมิติปรัชญา และ Moral สำหรับมิติศาสนาก็ไปไม่รอด มีหลายคนพยายามแยกใช้ Ethic สำหรับระดับอธิบายตามหลักวิชาการ และ Moral สำหรับข้อปฏิบัติและคำอธิบายระดับภาษาสามัญ แต่ก็ไม่สู้จะมีคนฟัง ยังคงใช้ทั้ง 2 คำอย่างปนเปกัน โดยเอาความนิยมเป็นหลัก ผิดพลาดบ้างไม่ว่ากัน เพราะเข้าใจกันได้ แม้จะฟังแปร่ง ๆ หน่อยสำหรับผู้คร่ำหวอดก็ไม่เป็นไร
     จะขอสำรวจจำนวนคำที่เก็บอธิบายในสารานุกรมปรัชญา 2 ชุดของภาษาอังกฤษ คือ ชุด Routledge's Encyclopedia of Philosophy และชุด Macmillan's Encyclopedia of Philosophy, 2nd edition มาแสดงให้เห็นสถิติความสนใจใช้ 2 คำนี้ คือ ในบรรดาศัพท์ Ethic 46 คำ และ Moral 104 คำ Routledge เก็บคำกลุ่ม Ethic ไว้ 23 คำ และคำกลุ่ม Moral ไว้ 51 คำ ส่วน Macmillan เก็บคำกลุ่ม Ethic ไว้ 31 คำ และคำกลุ่ม Moral ไว้ 78 คำ ทั้ง 2 ฉบับเก็บกลุ่ม Ethic ไว้ร่วมกันเพียง 8 คำ และคำกลุ่ม Moral เก็บไว้ร่วมกัน 24 คำ เมื่อหักคำที่ใช้ร่วมกันแล้วก็เหลือคำที่ Routledge ใช้ส่วนตัวคือ Ethic 15 คำ และ Moral 27 คำ ส่วน Macmillan ใช้ส่วนตัวคือ Ethic 23 คำ และ Moral 54 คำ
     จากสถิตินี้จึงพอจะเห็นได้ว่าหนังสือหลักของโลกปรัชญาในภาษาอังกฤษนิยมใช้คำ Moral มากกว่า Ethic ประมาณเท่าตัว
     หากเรายึดถือเอาคำแปลของศัพท์ปรัชญาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2548 (พิมพ์ครั้งที่ 4) เป็นหลัก ก็จะเห็นว่าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน เพราะแปลคำ Ethics ว่าจริยศาสตร์ และอธิบายว่าเป็นเรื่องของศีลธรรม ดูที่คำ Morals แปลว่าหลักจริยธรรม ทำให้ดูเหมือนกับว่า 2 คำนี้ใช้แทนกันได้
     ขณะที่ผมทำหน้าที่เผยแพร่คุณธรรมของรัฐสภาสมัย สนช. นั้น มีคนถามหนาหูว่าคำ “ศีล ธรรม” หายไปไหน เห็นมีแต่ใช้คำ “จริยธรรม” ครั้งหน้าผมจะลองชำแหละเรื่องนี้ดู ถ้าเรื่องนี้ไม่ชัดเจน การเรียนการสอนเรื่องนี้คงยุ่งยากอยู่ จะพยายามดูครับ. 



ขอบคุณบทความจาก : ครูบ้านนอก.คอม : http://www.kroobannok.com/1187
ที่มาภาพ : http://thaigoodview.com/node/39646?page=0%2C0

มรรค 8 แห่งการส่งเสริมคุณธรรม - จริยธรรม




คุณธรรม - จริยธรรม คือ คุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ อันเป็นไปเพื่อความสุขของตนเองและการอยู่ร่วมกัน หรือศีลธรรม
คุณธรรม - จริยธรรม คือ การเป็นผู้มีจิตใจสูง ไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว แสดงออกโดยการไม่เบียดเบียน มีความเมตากรุณา มุ่งช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์
มรรค 8 แห่งการส่งเสริมคุณธรรม - จริยธรรม ประกอบด้วย
  1. ผู้ปกครองทุกๆ ระดับต้องตั้งอยู่ในความถูกต้อง โบราณได้สังเกตุมานานแล้วว่า ถ้าผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในความสุจริตยุติธรรมแล้ว บ้านเมืองจะหายนะทุกุประการ เพราะการประพฤติปฏิบัติของผู้ปกครองกระทบทุกอณูของสังคม ฉะนั้น การส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ผู้ปกครองทุกระดับ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลงไปจนถึงหัวหน้าครอบครัว ต้องเป็นผู้มีคุณธรรม - จริยธรรม
  2. ครอบครัวอบอุ่น การ อยู่กันเป็นครอบครัวผดุงคุณธรรมและจริยธรรม เด็กและคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้อยู่กันเป็นครอบครัว มีความเสี่ยงต่อความสูญเสียสูง เช่น คนงานที่จากบ้านมาอยู่ในโรงงานเศรษฐกิจจะคำนึงถึงเงินเท่านั้นไม่ได้ แต่ต้องถึงการอยู่กันเป็นครอบครัวอบอุ่น
  3. ชุมชนเข็มแข็ง ชุมชนเข็มแข็งเป็นเครื่องผดุงคุณธรรม - จริยธรรม ต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำ (ความเป็นชุมชน) ในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง
  4. การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข สัมมาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ สัมมาชีพเป็นบูรณาการของความดี ขณะที่จีดีพีไม่ใช่การพัฒนาควรปรับจากการวัดกันด้วยเงินหรือจีดีพี ไปเป็นการวัดกันด้วยการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งทำเป็นนโยบายสนับสนุนได้ เช่น การใช้ที่ดิน การใช้เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร การศึกษา เป็นต้น
  5. การมีสปิริตแห่งการเป็นอาสาสมัครเต็มแผ่นดิน รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมให้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ใช้ช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละปี เป็นอาสาสมัครเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งจะไปกระตุ้นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในจิตใจของแต่ละคนให้งอกงาม ขึ้นมา และเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้าหากันด้วยความเมตากรุณา
  6. ส่งเสริมการพัมนาจิตให้เป็นวิถีชีวิต ในขณะที่จิตใจสามารถฝึกอบรมให้มีความสุขได้ ฝึกอบรมให้ลดการเห็นแก่ตัวได้ ฝึกอบรมให้มีสติ มีสมาธิ มีปัญญายิ่งๆ ขึ้นได้ คนปัจจุบันกลับเกือบไม่มีการพัฒนาจิตใจเลย ควรส่งเสริมการพัฒนาจิตให้เป็นวิถีชีวิตของผู้คน ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ส่งเสริมให้มีศูนย์พัฒนาจิตมากๆ ทั้งสถาบันทางศาสนา หรือที่ทำโดยฆราวาส
  7. การศึกษาที่เข้าถึงความดี การศึกษาของเราเกือบทั้งหมดเอา "วิชา" เป็นตัวตั้ง จึงเข้าไม่ถึงความดี ในขณะที่ในพื้นที่มีคนคิดดีทำดีอยู่ การศึกษาของเราไม่รู้จักคนเหล่านั้น การศึกษาทุกระดับควรไปศึกษาวิจัยในพื้นที่ให้รู้จักคนดีๆ แล้วนำมาสื่อสารเรียนรู้กัน เรื่องของคนดีก็จะเข้าไปสู่ตัวผู้เรียน นอกจากนั้น เนื่องจากเรามีโครงสร้างของการศึกษาอยู่เต็มประเทศ เมื่อการศึกษาหันไปแสวงหาคนดีในพื้นที่ เราจะสร้างฐานข้อมูลของความดีขึ้นมาเต็มแผ่นดิน ทำให้ความดีเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และเป็นแหล่งเรียนรู้ ทำให้ความดีในแผ่นดินมีกำลัง
  8. การสื่อสารความดี การสื่อสารเป็นสิ่งที่มีพลังมาก ทั้งทางบวกและทางลบ ควรมีการสื่อสารให้คนทั้งประเทศเข้าถึงความจริง ความดี และความงาม ที่กล่าวมาข้างต้นในข้อ 1 - 7 ก็เป็นเรื่องของความดี การสื่อสารความดีเป็นความดีประการที่ 8 ที่ทำให้ความดีทุกข้อมีพลังมากขึ้น
ที่มาภาพ : http://www.oknation.net

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More

 
Design by Gu